“สับปะรดภูแล” มาจากไหน
“สับปะรดภูแล” มาจากไหน
ใครๆไปเชียงราย มักจะถามหาว่าสับปะรด“ภูแล” มีขายที่ไหน ทำไมรสชาติอร่อยจัง นำไปปลูกที่อื่นได้หรือไม่ทำไมเรียกภูแล เรื่องชื่อของสับปะรด “ภูแล” นั้น บ้างก็ว่าเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์นางแล กับ พันธุ์ภูเก็ตแล้วมาเรียกชื่อว่า“ภูแล”เรื่องนี้มีคำตอบที่น่าสนใจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เอนก ประทีป ณ ถลาง ปัจจุบัน อายุ 63 ปี อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงราย (วิทยาลัยครูเชียงราย) กล่าวว่า ตนเป็นคนนำสับปะรดพันธุ์ภูเก็ต สายพันธุ์ควีน มาจากบ้านเกิด เมื่อปี 2520 คุณพ่อบรรทุกรถ 10 ล้อมาให้ปลูกที่บ้านนางแล ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นที่ดินของเอง ปลูกปีแรกๆก็ได้ผลไม่ดีนักลูกเล็ก ไม่หวานเมื่อเทียบกับสับปะรดนางแลพันธุ์น้ำผึ้งที่กำลังมีชื่อโด่งดังในขณะนั้น เพราะที่ภูเก็ตกับเชียงราย สภาพภูมิอากาศต่างกัน ขายครั้งแรกกิโลละ 3-5 บาท ขายไม่ได้มากนักเพราะคนไม่รู้จัก ต่อมาตนเองได้ศึกษาวิจัยพบว่าต้องมีการพัฒนาจึงจะสู้กับตลาดได้จนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน
เรื่องชื่อของสับปะรด “ภูแล” นั้น บ้างก็ว่าเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์นางแล กับ พันธุ์ภูเก็ตแล้วมาเรียกชื่อว่า “ภูแล” เรื่องนี้ในเชิงวิชาการเป็นไปไม่ได้เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยนำไปพิสูจน์ในแล็บแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มาเรียกชื่อกันเองในภายหลังโดยสื่อมวลชน และ อีกอย่างบ้างก็ว่า เป็นพันธุ์ภูเก็ตมาปลูกที่บ้านนางแล เลยเรียกว่า “ภูแล” และพันธุ์ภูเก็ต ขาดการการดูแล เพราะหลังปลูกแล้วเจ้าของดูแลดายหญ้าใส่ปุ๋ยไม่ไหวเพราะมันแตกแขนงออกมาเยอะ ปล่อยให้มันออกช่อออกผลมาทำให้ลูกเล็กเองตามธรรมชาติ เลย เรียกว่า “พันธุ์ภูเก็ตที่ไม่ดูแล”แล้วเพี้ยนเป็น “ภูแล” ว่าเข้าไปนั่น
“เหตุที่สับปะรดภูแลมีชื่อเสียงเริ่มจาก อยู่มาวันหนึ่งโครงการพัฒนาดอยตุงได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อหาสินค้าที่แปลกเพื่อเป็นของฝากและอาหารและผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์แล้วได้นำสับปะรดภูเก็ตไปเป็นกลุ่มผลไม้หลังอาหารด้วยเขาคิดจานละ30 บาท ขณะที่เราขายกิโลละ 5 บาท จึงรู้สึกว่าของเรามีคุณค่า ตอนนั้นยังไม่มีชื่อต่างก็ถามว่าเป็นสับปะรดพันธุ์อะไร ขณะนั้นมีสื่อมวลชนร่วมงานด้วย มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” นี่แหละเป็นคนเรียกชื่อว่า “ภูแล” โดยเอาคำแรก ของสับปะรดภูเก็ต และ ตัวท้ายของสับปะรดนางแล มาผสมกันเป็น “สับปะรดภูแล” หลังจากนั้นเป็นต้นมา” ผศ.เอนก กล่าว
ชื่อนี้ก็ถูกเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” เป็นฉบับแรก ต่อมาฉบับอื่นๆ รวมทั้งโทรทัศน์และวิทยุก็ทำสกู๊ปกันมาเรื่อยๆ จนทำให้สับปะรด“ภูแล” เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ชื่อยังเป็นแบรนด์สินค้าต่างๆด้วย รวมทั้งร้านอาหาร ที่พัก และโรงแรมก็มีคำว่า “ภูแล” ประกอบด้วย ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายส่งเสริมปลูกใน 3 ตำบล คือ นางแล ท่าสุด และตำบลบ้านดู่ พื้นที่ 2,012 ไร่ มีเกษตรกรปลูก 222 ราย พื้นที่ปลูกบนภูเขาลาดเอียง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 18-25 องศาเซลเซียส ได้ส่งเสริมการผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสมหรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้สับปะรดดีมีคุณภาพตามมาตรฐาน พร้อมทั้งได้รับจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ “จีไอ” (GI:Geographycal Indication) มาแล้ว และยังเป็นสินค้าโอท็อป 5 ดาว ปี 2555 จากกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย
วันก่อนได้คุยกับผู้นำหมู่บ้านหมู่ 18 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย บอกว่า สับปะรดภูแล นี้ ทำให้เศรษฐกิจหมู่บ้านดีขึ้นมาก ผู้ที่ปลูกทุกคนมีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมมาก หลายคนมีบ้านใหม่ มีรถมอเตอร์ไซค์ มีรถปิ๊กอัพคันใหม่เพิ่มจากคันเดียวเป็นสองคัน บางรายรับออร์เดอร์จากกรุงเทพฯเพื่อส่งไปขายที่อื่นทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ผลิตเท่าใดไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด ฟังแล้วชื่นใจแทน ครับ.....
เชียงราย นี่เมืองมหัศจรรย์จริงๆ... ปลูกพืชอะไรจากที่ไหนก็ได้ผลดีไปหมด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น